
สร้างสุขภาพผู้สูงอายุ.....ด้วยหลัก 3 อ.
ปัจจุบันสังคมไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 11.2 ล้านคน
คิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยในจำนวนผู้สูงอายุ
จำนวน 11.2 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวจำนวน 9
แสนคน คิดเป็นร้อยละ 8.7 และในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดนี้
ร้อยละ 95 เจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ
มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียง ร้อยละ
26 มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1 มีผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพียงร้อยละ
56 ดังนั้นการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้สูงอายุด้วยตัวผู้สูงอายุเอง
ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากบุตรหลาน
ญาติหรือคนใกล้ชิด การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทำได้ด้วยหลัก 3 อ. คือ อ. อาหาร อ. ออกกำลังกาย
และ อ. อารมณ์ การส่งเสริมสุขภาวะที่ง่ายที่สุด คือ การใช้หลักการปฏิบัติตัว
เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และช่วยบำรุงเซลล์สมอง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หวาน
มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้
เพื่อระบบย่อยอาหาร ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว
ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ
เนื่องจากเซลส์เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของผู้สูงอายุเสื่อมลงตามธรรมชาติ
ทำให้เกิดโรคความเสี่ยงของอวัยวะตามมา ฝึกให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวกล้ามเนื้ออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5
วัน ด้วยวิธีการอย่างเช่น เดิน ปั่นจักรยาน หรือรำมวยจีน
การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอ่อนโรยไปตามวัย
แม้แต่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ซึ่งจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ จำเป็นต้องกระตุ้นให้เคลื่อนไหวเท่าที่ทำได้
ส่วนผู้สูงอายุที่หกล้มควรรักษาอาการเจ็บป่วยที่มีอยู่เดิมก่อน แก้ไขปัญหาสายตา
ปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในช่วงอากาศร้อน ให้ระวังการออกกำลังกายในสถานที่อากาศร้อนอบอ้าว
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้
เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอาการโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก หรืออาจจะหาวิธีการออกกำลังกายใหม่ๆ
เพื่อบริหารร่างกายและสมองที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยประยุกต์จากสิ่งที่มีในท้องถิ่น เช่น การใช้กะลามะพร้าวและยางวงรัดของมาทำเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกาย
เพื่อสร้างความแข็งแรงของกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ การประยุกต์ท่าทางการออกกำลังกาย
ใช้เพลงพื้นเมือง หรือเพลงที่ผู้สูงอายุฟังจนชินหู สามารถร้องตามได้ เช่น ท่ารำจังหวะไม่เร็วมากนัก
มาเป็นท่าบริหาร สมอง ช่วยให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาทำงานประสานกันได้ดี เป็นต้น ส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจของผู้สูงอายุ โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศสดชื่น
สะอาด ไม่แออัด
ให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียด บุตรหลาน ญาติ หรือคนใกล้ชิด
ควรสอบถามสาเหตุ ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล พูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน แก้ไขปัญหา
ไม่ควรให้ผู้สูงอายุเก็บปัญหาหรือเก็บความไม่สบายใจไว้เพียงลำพัง หลีกเลี่ยงการให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวเพียงลำพัง
ฝึกการใช้ความคิดและความจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้สมองตื่นตัว
และทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด สนับสนุนให้ออกไปพบปะผู้คน
หาสังคมใหม่ๆ ทำกิจกรรม หรืองานอดิเรก การดูแลผู้สูงอายุ
เป็นหน้าที่ของบุตรหลาน ญาติ หรือคนใกล้ชิด จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
มอบความรักต่อผู้สูงอายุ โดยแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นคนสำคัญของครอบครัว
ทำกิจกรรมร่วมกัน รับประทานอาหาร รวมทั้งการพาผู้สูงอายุออกกำลังกาย
ออกกำลังกายร่วมกันหรือพร้อมๆกัน
เพื่อให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินและมีความสุขกับทุกคนในครอบครัว แหล่งข้อมูล : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข 12 พฤศจิกายน
2562